เชื่อได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยคงค้นพบความสนุกสนานในหนังการ์ตูนเรื่องล่าสุดของค่าย Dreamworks จากเหตุผลที่ชัดเจนหลากหลาย อาทิ ความน่ารักอ้วนกลมของเจ้าแพนด้า อาการตะกละกินจนพุงพลุ้ยของมัน ฉากแอ็กชั่นสุดอลังการเทียบเท่าหนังจีนกำลังภายในชั้นเลิศ และงานสร้างอันประณีต บรรจง ตลอดจนฉากหลังที่สวยงาม ยิ่งใหญ่ และเปี่ยมจินตนาการของประเทศจีน แม้ว่าลึกๆ แล้วพวกเขาจะตระหนักเช่นกันว่าพล็อตสูตรสำเร็จของหนังค่อนข้าง “ช้ำ” จากการถูกใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนปราศจากความแปลกใหม่ใดๆ
อย่างไรก็ตาม จุดน่าสนใจของ Kung Fu Panda หาได้อยู่ตรงเสน่ห์ทางรูปธรรมเหล่านั้น หากแต่เป็นกลิ่นอายคละคลุ้งของแนวคิดแบบตะวันออก หรือหากจะพูดให้เฉพาะเจาะจงลงไป คือ พุทธศาสนานิกายเซน ซึ่งสอดแทรกอยู่แทบจะทุกรายละเอียดของหนังต่างหาก
ที่สำคัญ สมมุติฐานดังกล่าวยังช่วยคลี่คลายปริศนาพิศวงเพียงหนึ่งเดียวในหนังให้กระจ่างได้อีกด้วย นั่นคือ เหตุใดผู้สร้างจึงวางพล็อตเรื่องให้หมีแพนด้ามีพ่อเป็นห่าน!?!
ฉากหนึ่งในช่วงท้ายเรื่องซึ่งดูจะเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูอย่างคาดไม่ถึง คือ เมื่อพ่อของโป ผู้สืบทอดอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวมาหลายชั่วอายุคน (จากรูปภาพบนผนังร้าน ทั้งพ่อและปู่ของเขาล้วนเป็นห่าน) พูดกับลูกชายว่าเขามีความจริงบางอย่างจะบอก คนดูนึกขำเพราะคิดว่าเขากำลังจะเผยความลับว่าตนไม่ใช่พ่อแท้ๆ ของโป ซึ่งคงเป็นเรื่องที่สังเกตเห็นได้ไม่ยาก เนื่องจากทั้งสองเป็นสัตว์คนละสายพันธุ์กันอย่างสิ้นเชิง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวกลับไม่ถูกระบุชัด (สุดท้ายแล้วสิ่งที่พ่อของโปอยากจะบอก คือ สูตรลับในการทำก๋วยเตี๋ยว) ราวกับ Kung Fu Panda ดำเนินเหตุการณ์ในโลกคู่ขนานที่สัตว์ทุกชนิดล้วนเท่าเทียมกันและสืบเชื้อสายต่างสายพันธุ์จนเป็นเรื่องปกติ (ตัวละครรอบข้างก็ดูจะไม่ตระหนักถึงความแตกต่างทางกายภาพระหว่างโปกับพ่อของเขาแม้แต่น้อย)
ในเมื่อห่านยังเป็นพ่อของแพนด้าได้ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากเราจะเห็นตั้กแตนตำข้าวจับหมีแพนด้า ซึ่งมีรูปร่างใหญ่กว่าเขานับร้อยเท่า ทุ่มข้ามหัว หรือเห็นแพนด้าแดง (ฉีฟู่) เป็นอาจารย์สอนกังฟู แล้วเลี้ยงดูและรักใคร่สัตว์ดุร้ายอย่างเสือดาวเหมือนลูกแท้ๆ หรือเห็น “เพศเมีย” ดำรงตำแหน่งสำคัญในกลุ่มห้าผู้พิทักษ์ (อสรพิษ กับ นางพยัคฆ์) ซึ่งมีโอกาสจะได้รับเลือกให้เป็นนักรบมังกร
แนวคิดแห่งความเสมอภาคข้างต้นช่วยสะท้อนอัตลักษณ์อันสำคัญของนิกายเซน ว่าด้วยมนุษย์ทั้งหลายล้วนมีพุทธภาวะอยู่ในตัว มีโอกาสตรัสรู้ได้ทุกคนและแจ่มแจ้งในตัวเอง โดยการเข้าถึงพุทธภาวะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยรูปแบบใดๆ ทางภายนอกเลย รวมทั้งการตรัสรู้ยังไม่จำกัดด้วยว่าจะต้องเป็นเพศใด เป็นผู้คงแก่เรียนหรือไม่ อายุหรือวัยเท่าใด เพราะไม่ว่าใครต่างก็มีธรรมชาติเดิมแท้อันบริสุทธิ์อยู่แล้ว และเมื่อสิ่งที่มาครอบคลุมถูกรื้อถอนออก ความสว่างไสวก็จะปรากฏออกมาทุกคน ไม่เว้นใครเลย
นอกจากนี้ Kung Fu Panda ยังได้สอดแทรกแง่มุมเกี่ยวกับเซนเอาไว้อีกมาก เช่น ในฉากหนึ่งเสียงดังของโปได้ไปรบกวนสมาธิของนกกระเรียน ขณะเขากำลังเขียนภาษาจีนเป็นคำว่า “ฌาน” ลงบนกระดาษ ซึ่งถอดรูปมาจากภาษาบาลีอีกทอดหนึ่งหมายถึงการเข้าฌาน (มันคือคำเดียวกับเซน ซึ่งเป็นคำภาษาญี่ปุ่นและถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางหลังแนวคิดดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นในอินเดีย แล้วเผยแผ่มายังประเทศญี่ปุ่นผ่านทางจีน โดยรับอิทธิพลเพิ่มเติมจากลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า)
เมื่อฉีฟู่เร่งรีบมาบอก “ข่าวร้าย” กับอาจารย์อูเกวย์ว่า ไถ่หลางแหกคุกสำเร็จและกำลังเดินทางมาหาพวกเขา คำตอบที่เขาได้รับจากอูเกวย์ ซึ่งเปรียบดังผู้บรรลุพุทธภาวะแล้ว (ก่อนหนังจะพลิกตลบให้กลายเป็นมุกตลก) ว่า “ไม่มีข่าวดี หรือข่าวร้ายหรอก มีแต่ข่าวเท่านั้น” บ่งชี้ถึงแก่นประการหนึ่งของนิกายเซนเกี่ยวกับความคิดรวบยอด หรือการจำแนกสิ่งต่างๆ ออกเป็นสองขั้วที่ต่างกัน เช่น ดี-ชั่ว ผิด-ถูก พอใจ-ไม่พอใจ โดยเซนถือว่าความคิดรวบยอดเปรียบดังโซ่ตรวนที่ผูกมัดมนุษย์ไว้ในกรงแห่งความทุกข์และอวิชชา และหากทำลายความคิดปรุงแต่งเหล่านี้เสียได้ เราก็จะเป็นอิสระ จะเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริงของมัน
แต่นาทีแห่งเซนดูจะพุ่งทะยานถึงขีดสุดในฉากที่โปเปิด “คัมภีร์มังกร” แล้วพบว่ามันว่างเปล่า ไร้ตัวอักษร ไร้คำบรรยายใดๆ แรกทีเดียวเขาไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับฉีฟู่ ไถ่หลาง และสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่มห้าผู้พิทักษ์ จนกระทั่งเขาได้ทราบความลับจากพ่อว่า สูตรน้ำซุปรสเลิศก็ไม่มีอยู่จริงเช่นกัน
พื้นฐานสำคัญของเซน คือ ความจริงสูงสุดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดงออกได้ด้วยคำพูดหรือตัวหนังสือ ดังคำกล่าวที่ว่า “การส่งมอบพิเศษนอกคัมภีร์ ไม่ต้องอาศัยคำพูด หรือตัวหนังสือ ชี้ตรงไปยังจิตวิญญาณของมนุษย์ มองย้อนเข้าไปในธรรมชาติแท้ของตนเองและบรรลุพุทธภูมิ” ตรงกับหลักในปรัชญาเต๋าที่ว่า “เต๋าเป็นสิ่งที่ไม่อาจเรียกได้ด้วยคำพูด เต๋าที่เรียกได้ด้วยคำพูด ไม่ใช่เต๋าที่แท้จริง” ดังนั้น เซนจึงมุ่งหวังในเรื่องประสบการณ์ ความตื่นของชีวิตมากกว่าคำพูด ประสบการณ์นี้เรียกว่า “ความว่าง” หรือ “ธรรมชาติแห่งพุทธ” ซึ่งเป็นธรรมชาติดั้งเดิม เปรียบดังการที่เราทราบว่ากำลังดื่มน้ำร้อน หรือน้ำเย็นโดยไม่ต้องบอก
เมื่อทุกอย่างเป็นความว่างเปล่า เซนจึงไม่เชื่อในเรื่องบุญหรือบาป ไม่เชื่อว่ามีจิต ฉะนั้น เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งเขียนคาถาว่า “จิตเป็นเหมือนกระจกเงา ต้องคอยปัดกวาดฝุ่นละอองให้ผ่องใสอยู่เสมอ” อาจารย์ฮุยเน้งของเซนจึงเขียนคาถาหักล้างไปว่า “เมื่อกระจกนั้นไม่มี ฝุ่นละอองจะมาจับได้อย่างไร” ผู้ที่คอยปัดกวาดจิตให้สะอาดนั้น เซนดูหมิ่นว่าเป็นผู้ที่เสียแรงเสียเวลาเปล่า เพราะมัวหลงไปปัดกวาดในที่ที่ไม่มีฝุ่นละอองจับ เพราะการยึดกาย บำรุงบำเรอกาย ไม่เกิดประโยชน์ฉันใด การยึดจิตและพยายามปัดกวาดขัดเกลาจิตก็ไม่เกิดประโยชน์ฉันนั้น
คนที่นั่งปัดกวาดให้จิตว่าง หรือขัดเกลาจิตให้ผ่องใสนั้นก็ไม่ผิดอะไรกับผู้หญิงนั่งผัดหน้าทาปากเพื่อให้หน้าสวย ถ้าอย่างหลังไม่เกิดประโยชน์ อย่างแรกก็ไม่เกิดประโยชน์เช่นกัน เพราะเมื่อไม่มีอะไรตั้งแต่เริ่มแรกเสียแล้ว การขุดคุ้ย ขัดล้างต่างๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์ เหมือนขุดลม ขัดลม ในที่สุดก็จะไม่พบอะไร และไม่มีอะไรที่สะอาดบริสุทธิ์ขึ้น ด้วยเหตุนี้ โมกธรรมและบริสุทธิคุณจึงไม่ใช่เรื่องของใจสะอาดผ่องแผ้ว หรือใจบริสุทธิ์ แต่ได้แก่สุญญตา คือ ความว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย
อาจกล่าวได้ว่าการฝึกวิทยายุทธ์ใน Kung Fu Panda ก็เสมือนสัญลักษณ์ของการปฏิบัติธรรม หรือดำเนินตามมรรควิถี เพราะถึงแม้เซนจะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีของดีอยู่ในตัวแล้วก็ตาม (มีโอกาสตรัสรู้เท่าเทียมกัน) แต่เมื่อมันยังถูกบดบังด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เราก็จะไม่สามารถเห็นแจ้งอยู่นั่นเอง ฉะนั้น เราจึงต้องกำจัดเงื่อนไข แสวงหาหลักการ และลงมือกระทำการต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยให้ของดีที่เรามีอยู่แสดงตัวออกมา แต่การเดินทางไปสู่พุทธภาวะ (หรือ “คัมภีร์มังกร” ในหนังเรื่องนี้) นั้นไม่มีใครสามารถทำแทนเราได้ และกระทั่งอาจารย์ก็ไม่สามารถถ่ายทอดให้ศิษย์เข้าใจได้ ดุจเดียวกับเวลาหิวข้าว หรือกระหายน้ำ เราก็ต้องกินข้าวและดื่มน้ำด้วยตัวเองเพื่อให้อิ่มท้อง
ด้วยเหตุนี้ สิ่งเดียวที่อาจารย์อย่างอูเกวย์สามารถทำได้ คือ แนะนำให้ลูกศิษย์อย่างฉีฟู่ลดการยึดมั่น แล้วรู้จักปล่อยวาง เพื่อสักวันฉีฟู่จะได้พบกับ “ความสงบในจิตใจ” หลังจากใช้เวลาทั้งชีวิตพยายามบังคับทุกอย่างให้เป็นไปตามประสงค์ เขาฝืนฝึกฝนไถ่หลางให้เป็นนักสู้ชั้นยอด โดยมืดบอดต่อความชั่วร้าย (อวิชชา) ที่กำลังครอบงำลูกศิษย์ของเขามากขึ้นทุกขณะ ทั้งนี้เพราะเขาเชื่อมั่นว่าวิชากังฟูนั้น “เพียงพอ” แล้วสำหรับการครอบครอง “คัมภีร์มังกร” การกระทำของเขาจึงไม่ต่างจากคำเปรียบเปรยของอูเกวย์ นั่นคือ ฉีฟู่ได้นำเอาเมล็ดท้อมาปลูกฝัง หมั่นพรวนดิน ด้วยหวังว่าสักวันมันจะเติบใหญ่ แล้วให้ผลเป็นลูกส้ม หรือแอปเปิ้ล ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีวันเป็นไปได้
ขณะเดียวกัน ฉีฟู่ยังยึดมั่นว่าการโหมฝึกกังฟูอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ว่องไว ทรงพละกำลัง จะเป็นหนทางเดียวในการเข้าถึง “คัมภีร์มังกร” และต่อกรกับไถ่หลาง ส่งผลให้เขาด่วนปฏิเสธโปในทันที เพราะเห็นว่าแพนด้าท้องกลมไม่ “เข้าข่าย” จะเป็นนักรบมังกรได้ ถึงแม้นักเรียนคนอื่นของเขา เช่น ตั๊กแตนและอสรพิษ ก็ห่างไกลจากภาพลักษณ์ของนักบู๊ไม่แพ้กัน หากพิจารณาจากเพียงรูปกายภายนอก แต่สุดท้าย ศรัทธาต่ออาจารย์อูเกวย์ทำให้ฉีฟู่เรียนรู้ที่จะเปิดใจ ปล่อยวาง แล้วฝึกฝนวิชากังฟูให้กับโป
เมื่อนักสู้ชั้นเลิศ ต้องตรงตามตำราอย่างไถ่หลางกลับพ่ายแพ้ต่อแพนด้าพุงพลุ้ยอย่างโป ฉีฟู่จึงพลันตระหนักว่า กฎเกณฑ์ความเชื่อที่เขายึดมั่นมาตลอดนั้นหาใช่สัจธรรม แต่กำลังเหนี่ยวรั้งเขาให้ผูกติดอยู่กับบ่วงโซ่ของความคิดปรุงแต่งต่างหาก... เมื่อตระหนักได้เช่นนั้น อิสรภาพ หรือความสงบในจิตใจจึงบังเกิด
การเดินทางของโปเริ่มต้นเมื่อเขาตัดสินใจหันมาฝึกวิทยายุทธ์ (การปฏิบัติธรรม) กับฉีฟู่ แทนที่จะเจริญรอยตามอาชีพคนขายก๋วยเตี๋ยวแบบเดียวกับพ่อ (การใช้ชีวิตสะเปะสะปะจนทำให้ของดีในตัวถูกบดบังห่อหุ้มด้วยอวิชชา) แต่การเข้าถึง “คัมภีร์มังกร” (พุทธภาวะ/การตรัสรู้) นั้นเป็นสิ่งที่เขาต้องกระทำด้วยตัวเอง ไม่มีใครสามารถทำแทนได้ และเช่นเดียวกับหลักคำสอนของเซน ซึ่งบอกว่าพุทธภาวะหาใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นการรู้แจ้งถึงบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ในตัวเองตลอดเวลาเท่านั้น และที่เราไม่รู้สึกถึงสิ่งนี้ก็เพราะมีอวิชชาครอบคลุมอยู่ เช่นเดียวกัน โปสามารถเข้าถึงขุมพลังของคัมภีร์มังกรก็ต่อเมื่อเขายอมรับสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวเอง
แรกทีเดียว โปต้องการให้ฉีฟู่ฝึกฝนให้เขาเป็น “คนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง” หรือกล่าวอีกนัย คือ นักรบแข็งแกร่ง ทรงพละกำลังดุจเดียวกับเหล่านักสู้กังฟูทั้งหลาย ไม่ใช่แพนด้าตัวกลมจอมตะกละและอุ้ยอ้าย แต่เมื่อเหลือบดูคัมภีร์ที่ว่างเปล่า ปราศจากคำจารึกใดๆ และภาพสะท้อนของตัวเองบนแผ่นกระดาษนั้นอีกครั้ง เขาก็พลันตระหนักว่า “ของดี” นั้นซุกซ่อนอยู่ในตัวเขาตั้งแต่แรกแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหา หรือบากบั่นเพื่อเป็นคนอื่น
หนังตอกย้ำประเด็นดังกล่าวด้วยการให้โปเอาชนะไถ่หลาง ไม่ใช่ด้วยวิชากังฟู แต่ด้วย “ตัวตน” ของเขาเอง เมื่อไถ่หลางพยายามใช้วิชา “สกัดจุด” มันกลับเพียงทำให้โปจั๊กจี้ เมื่อไถ่หลางโถมกำลังเข้าใส่ โปกลับใช้ชั้นไขมันบนหน้าท้องสะท้อนความแรงกลับสู่ฝ่ายตรงข้าม และเมื่อเสือดาวเย้ยหยันว่า ฉีฟู่ไม่มีทางสอนท่ากลเม็ด “นิ้วก้อยพิฆาต” ให้โปหรอก แพนด้าจึงตอบกลับด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ไปว่า “ฉันคิดได้เอง”... มันเป็นน้ำเสียงของอิสรภาพ ของคนที่ได้รู้อย่างครบถ้วนแล้ว
อ้างอิง
• บทความ พุทธศาสนานิกายเซน โดย คะนอง ปาลิภัทรางกูร (http://tulip.bu.ac.th/~kanong.p/zen)
• หนังสือ นิกายเซน โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
ที่มา http://riverdale-dreams.blogspot.com/2008/07/kung-fu-panda.html
No comments:
Post a Comment